ส.อ.ท.แนะรัฐไม่ควรลดภาษี 0% ตามเวียดนาม ชง 3 ข้อแก้เกมภาษีทรัมป์

14 กรกฎาคม 2568
ส.อ.ท.แนะรัฐไม่ควรลดภาษี 0% ตามเวียดนาม ชง 3 ข้อแก้เกมภาษีทรัมป์

ส.อ.ท.แนะนำรัฐไม่ควรลดภาษี 0% ตามเวียดนาม ระบุต้องพิจารณาความคุ้มค่า และผลประโยชน์ พร้อมเดินหน้าชง 3 ข้อแก้เกมภาษีทรัมป์

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนาโต๊ะกลม "Roundtable : The Art of (Re)Deal”  ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า จากการที่ประเทศไทยถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36% โดยจะมีผลวันที่ 1 ส.ค. 68 ซึ่งสูงกว่าประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซียที่ถูกเก็บภาษีเพียง 25% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงมือยาง ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในปริมาณมาก 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

อย่างไรก็ดี ส.อ.ท. พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยการจัดทำข้อมูลส่งให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาลดอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าจากสหรัฐฯ บางกลุ่มอุตสาหกรรมเหลือ 0% เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯ อาจพิจารณาลดอัตราภาษีนำเข้าจากไทย 
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนย้ำว่าไทยไม่จำเป็นต้องลดภาษีทุกอุตสาหกรรม 0% แบบเวียดนามที่ยอมเปิดทั้งหมด โดยต้องพิจารณาความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่จีนจะได้รับจากการดำเนินการของเวียดนาม

นายนาวา กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมากคือการที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 18% รวมถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่สร้างกำแพงการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ทั้งอินเดียและจีนหันมาหาประเทศอื่นเพื่อส่งออกสินค้าแทน ส่งผลให้สินค้าไหลเข้ามาไทยมากขึ้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องสร้างกำแพงทางการค้าให้สูงขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

นอกจากนี้ จากนโยบายทรัมป์ 1.0 เมื่อช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรปได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเหล็กจากจีน ส่งผลให้เหล็กจากจีนไหลเข้ามาในเอเชียเป็นจำนวนมาก หากไทยไม่มีมาตรการป้องกันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เห็นได้จากอุตสาหกรรมเหล็กที่กำลังเผชิญกับภาวะซบเซา เนื่องจากเศรษฐกิจเปราะบาง หลายบริษัทต้องปรับลดกำลังการผลิตและปลดพนักงาน แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

นายนาวา กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

  • มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty - CVD) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping - AD) ซึ่งกกร. เสนอให้เร่งนำกฎหมายตอบโต้การอุดหนุนมาใช้ ซึ่งไม่มีการใช้มานานกว่า 10 ปี
  • มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน (Soft Loan) แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ธนาคารพาณิชย์กลับเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จึงขอให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม
  • มาตรการเยียวยาทางอ้อม บางบริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงธุรกิจ ดังนั้น ในประเด็นค่าแรงซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติหนัก การปรับขึ้นค่าแรงในตอนนี้อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานได้

สำหรับปัจจุบันนั้น ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 12 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2567 มาเลเซียซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเช่นกัน กลับถูกเก็บภาษีเพียง 25% เนื่องจากมีการบริหารจัดการปัญหาการสวมสิทธิ์ที่ดีกว่าไทย จึงไม่แน่ใจว่าการเจรจาของไทยจะสามารถลดอัตราภาษีลงได้มากน้อยเพียงใด ภาครัฐจึงควรรีบดำเนินการจำกัดการสวมสิทธิ์อย่างจริงจัง

ธุรกิจที่ดีก็ยังดี เช่น อาหารสัตว์ หรือ ยาดมยาหม่อง แต่ส่วนใหญ่แย่ ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ควรใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมให้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการหลบเลี่ยงการนำเข้าต้องใช้เวลานานกว่า 9 ปี กว่าจะมีมาตรการออกมาใช้ จะเห็นจากวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ไทยโชคดีที่มีอุตสาหกรรมเกษตรรองรับ 

แต่ในปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐควรมีมาตรการช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition) เพื่อให้อุตสาหกรรมปรับตัวรองรับตลาดได้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงจนทำลายกันเองเหมือนที่เกิดขึ้นกับจีน


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.